ประเทศไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อน จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพมาก พืชหลากหลายสายพันธุ์มีสรรพคุณเป็นยา สามารถใช้บำรุงร่างกาย และรักษาโรคได้ คนไทยโบราณซึ่งอยู่กินกับธรรมชาติ จึงได้อาศัยความสามารถของพืชเหล่านี้ในการรักษาผู้คนที่เจ็บป่วย และใช้ในชีวิตประจำวัน
สมุนไพร
สมุนไพร หมายถึง พืชที่นำมาใช้เป็นยา อาจใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ หรือรักษาโรคก็ได้ การใช้สมุนไพรสำหรับรักษาโรค หรืออาการเจ็บป่วยต่างๆ นี้ จะต้องนำเอาสมุนไพรตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปมาผสมรวมกันซึ่งจะเรียกว่า "ยา" ในตำรับยา นอกจากพืชสมุนไพรแล้วยังอาจประกอบด้วยสัตว์และแร่ธาตุอีกด้วย เราเรียกพืช สัตว์ หรือแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบของยานี้ว่า "เภสัชวัตถุ"
ปัจจุบันมีผู้พยายามศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนายาสมุนไพรให้สามารถนำมาใช้ในรูปแบบที่สะดวกยิ่งขึ้น เช่น นำมาบดเป็นผงบรรจุแคปซูล ตอกเป็นยาเม็ด เตรียมเป็นครีมหรือยาขี้ผึ้งเพื่อใช้ทาภายนอก เป็นต้น ในการศึกษาวิจัยเพื่อนำสมุนไพรมาใช้เป็นยาแผนปัจจุบันนั้น ได้มีการวิจัยอย่างกว้างขวาง โดยพยายามสกัดสาระสำคัญจากสมุนไพรเพื่อให้ได้สารที่บริสุทธิ์ ศึกษาคุณสมบัติทางด้านเคมี ฟิสิกส์ของสารเพื่อให้ทราบว่าเป็นสารชนิดใด ตรวจสอบฤทธิ์ด้านเภสัชวิทยาในสัตว์ทดลองเพื่อให้ได้ผลดีในการรักษาโรคหรือไม่เพียงใด ศึกษาความเป็นพิษและผลข้างเคียง เมื่อพบว่าสารชนิดใดให้ผลในการรักษาที่ดี โดยไม่มีพิษหรือมีพิษข้างเคียงน้อยจึงนำสารนั้นมาเตรียมเป็นยารูปแบบที่เหมาะสมเพื่อทดลองใช้ต่อไป
ตัวอย่างวิธีการปรุงยาสมุนไพร
- ปรุงโดยการต้ม
- ปรุงโดยวิธีการกลั่น
- ปรุงโดยการดอง
- ปรุงโดยวิธีสะตุ
- ปรุงโดยวิธีเคี่ยว (การต้มจนงวด กลายเป็นน้ำมัน หรือไข เพื่อใช้ทาหรือนวด)
- ปรุงโดยวิธีการตำ
- ปรุงโดยการบดให้เป็นผง แล้วปั้นเป็นก้อน
- ปรุงโดยการนึ่ง
- ปรุงโดยวิธีมวน สูบแก้ริดสีดวงจมูก
- ปรุงโดยวิธีฝน แล้วทาหรือกิน
- ปรุงโดยวิธีเผา หรือคั่ว
ตัวอย่างยาสมุนไพร
ตัวอย่างสมุนไพรต่อไปนี้ เป็นสมุนไพรที่พบเห็นกันบ่อยในประเทศไทย
ว่านหางจระเข้ (Aloe indica Royal)
| คุณค่าของว่านหางจระเข้มีมากมาย นอกจากใช้รักษาโรคแล้ว ยังใช้บำรุงผิว และเส้นผมได้ด้วย ว่านหางจระเข้ มีคุณสมบัติสามารถช่วยให้กระบวนการเมตะโบลิซึม ทำงานได้เป็นปกติ ลดการติดเชื้อ สลายพิษของเชื้อโรค กระตุ้นการเกิดใหม่ ของเนื้อเยื่อส่วนที่ชำรุด ว่านหางจระเข้มีส่วนช่วย ให้ผิวพรรณผุดผ่อง สดชื่น มีน้ำมีนวล และยังสามารถขจัดสิว และลบรอยจุดด่างดำได้ด้วย การใช้ว่านหางจระเข้ เพื่อบำรุงผิว โดยปอกเปลือกออก ใช้แต่เมือกวุ้นสีขาวใส ที่อยู่ภายใน ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการแพ้ ก่อนใช้ควรตรวจสอบว่า ตนเองจะเกิดอาการแพ้หรือไม่ โดยใช้น้ำที่ได้จากวุ้นสีขาว ของว่านหางจระเข้ ทาตรงบริเวณโคนหู แล้วทิ้งไว้สักครู่ ถ้าเกิดการระคายเคืองเป็นผื่นแดง แสดงว่าแพ้ ไม่เหมาะที่จะใช้อีกต่อไป ถ้าไม่มีอาการแพ้ ก็สามารถใช้ได้ตลอด แต่บางคนก็จะเห็นผลได้เหมือนกัน เมื่อใช้ว่านหางจระเข้ทาบริเวณหัวสิว จะทำให้หัวสิวแห้งเร็ว นอกจากนี้ ว่านหางจระเข้ยังสามารถลดความแห้งกร้าน และลดความมันของผิวหน้าได้ โดยคนที่มีผิวมัน ก็จะช่วยให้ลดความมัน คนที่มีผิวหน้าแห้ง ก็ยังรักษาความชุ่มชื่นของผิวไว้ได้ |
กะเพรา (hot basil)
| กะเพรามี 3 พันธุ์ คือ กะเพราแดง กะเพราขาวและกะเพราลูกผสมระหว่างกะเพราแดงและกะเพราขาว กะเพรามีลักษณะทั่วไปคล้ายโหระพา ต่างกันที่มีกลิ่นและกิ่งก้านซึ่งมีขนปกคลุมมากกว่า ใบกะเพราขาวมีสีเขียวอ่อน ส่วนใบกะเพราแดงมีสีเขียวแกมม่วงแดง ดอกย่อยสีชมพูแกมม่วง ดอกกะเพราแดงมีสีเข้มกว่ากะเพราขาว ใบหรือทั้งต้นใช้เป็นยาขับลมแก้ปวดท้อง ท้องเสีย และคลื่นไส้อาเจียน นิยมใช้กะเพราแดงมากกว่ากะเพราขาว โดยใช้ยอดสด 1 กำมือ ต้มพอเดือด ดื่มเฉพาะส่วนน้ำ พบว่าฤทธิ์ขับลมเกิดจากน้ำมันหอมระเหย การทดลองในสัตว์ แสดงว่าน้ำสกัดทั้งต้นมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ สารสกัดแอลกอฮอล์สามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหาร สาร eugenol ในใบมีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมันและลดอาการจุกเสียด |
ข่า (galangal)
| ข่าเป็นไม้ล้มลุก สูง 1.5-2 เมตร เหง้ามีข้อและปล้องชัดเจนใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอก รูปวงรีหรือเกือบขอบขนาน กว้าง7-9 ซม. ยาว 20-40 ซม. ดอกช่อ ออกที่ยอด ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาว โคนติดกันเป็นหลอดสั้นๆ ปลายแยกเป็น 3 กลีบ กลีบใหญ่ที่สุดมีริ้วสีแดง ใบประดับรูปไข่ ผลเป็นผลแห้งแตกได้ รูปกลม ใช้เหง้าอ่อนต้มเอาน้ำดื่ม บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และขับลม เหง้าสดตำผสมกับเหล้าโรง และยังใช้ทารักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากจากเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน สารที่ออกฤทธิ์คือน้ำมันหอมระเหย และ 1’-acetoxychavicol acetate ข่าไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ และไม่เป็นพิษในขนาดยา 250 เท่าของขนาดที่ใช้ในตำรายาไทย จัดเป็นสมุนไพรที่ปลอดภัย |
ขิง (Ginger)
| ขิงเป็นไม้ล้มลุกสูง 0.3-1 เมตร มีเหง้าใต้ดิน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในมีสีนวล และมีกลิ่นเฉพาะ ขิงใช้วิธีแทงหน่อหรือลำต้นเทียมเช่นเดียวกับไพล มีใบเดี่ยวเรียงสลับรูปขอบขนานแกมใบหอกกว้าง 1.5 - 2 ซม. ยาว 15 - 20 ซม. ดอกช่อแทงออกจากเหง้า กลีบดอกสีเหลืองแกมเขียว ใบประดับสีเขียวอ่อน ผลเป็นผลแห้ง มี 3 พู เหง้าขิงแก่ทั้งสดและแห้ง ใช้เป็นยาขับลม แก้อาเจียนแก้ไอขับเสมหะ และขับเหงื่อโดยใช้เหง้าสดขนาดนิ้วหัวแม่มือต้มกับน้ำหรือใช้ผงขิงแห้งชงน้ำดื่ม จากการทดลองกับอาสาสมัคร 36 คนพบว่าผงขิงป้องกันการเมารถเมาเรือได้ดีกว่ายาแผนปัจจุบัน (dimenhydrinate) ในเหง้ามีน้ำมันหอมระเหยประกอบด้วย menthol, bornelo, fenchone, 6-shogoal และ6-gingerol menthol, มีฤทธิ์ขับลม borneol, fenchone และ 6-gingerol มีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมันนอกจากนี้พบว่าสารที่มีรสเผ็ดได้แก่, 6-shogoal และ6-gingerol ลดการบีบตัวของลำไส้ จึงช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเกร็ง |
การประยุกต์ใช้สมุนไพร
สมุนไพรสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลายวิธี ทั้งใช้เป็นยาโดยตรง ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหาร หรือแม้กระทั่งนำมาทำเป็นเครื่องดื่ม แต่ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการทำน้ำขิงสด
น้ำขิงสด
| ส่วนผสม - ขิงสด 250 กรัม (ใช้ขิงแก่)
- น้ำ 1 กิโลกรัม
- น้ำตาลทราย 200 กรัม
วิธีทำ - ล้างขิงให้สะอาด ทุบขิงพอแตก
- ตั้งน้ำให้เดือด ใส่ขิงลงต้ม5 นาที
- เติมน้ำตาลทราย คนให้น้ำตาลละลาย แล้วกรอง
|
แพทย์ทางเลือก
การแพทย์ทางเลือก หมายถึง การรักษาโรคหรือความเจ็บป่วยด้วยวิธีการอื่นใดที่มีขั้นตอนการปฏิบัตินอกเหนือไปจากที่ได้รับการยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์แพทย์ทางเลือก หรือเรียกกันอีกอย่างว่าแพทย์แผนโบราณ เป็นศาสตร์ที่เกิดจากประเทศทางตะวันออก (ประเทศในทวีปเอเชีย) ตัวอย่างของแพทย์ทางเลือก เช่น โยคะ, การฝังเข็ม, ชีวจิต, การกดจุดรักษา, การกดจุดฝ่าเท้า, การนวด, ธรรมชาติบำบัด, การบำบัดด้วยน้ำมันหอม, การอดอาหาร, วารีบำบัด, สมุนไพรบำบัด, การสะกดจิต, การทำสมาธิ เป็นต้น การรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกสามารถทำได้สองแนวทาง คือ - รักษาควบคู่ไปกับการรักษาแบบแผนปัจจุบัน
- การรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกเพียงอย่างเดียว
แม้ว่าแพทย์ทางเลือกจะมีหลายสาขาซึ่งต่างกันออกไป แต่ก็มีหลักการบางอย่าง ที่เหมือนกัน นั่นก็คือ - ร่างกายสามารถที่รักษาตัวเอง เมื่อเป็นหวัดมีไข้ปวดตามตัว ไม่จำเป็นต้องใช้ยาลดไข้ แต่ให้หาวิธีที่จะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายมาจัดการกับเชื้อโรค
- การป้องกันเป็นวิธีที่ดี แพทย์ทางเลือกมักจะเน้นเรื่องการป้องกันโรคมากกว่าการรักษา
- เรียนรู้และร่วมกันรักษา แพทย์ทางเลือกมักจะศึกษาร่วมกับผู้ป่วยเพื่อหาทางรักษาตามความต้องผู้ป่วย
|
|
เอกสารอ้างอิง
เชษฐา ใจใส. เคล็ดลับการแปรรูป น้ำผลไม้ – น้ำสมุนไพรให้มีคุณภาพ. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๗.
พระครูวินัยธร ธรากร อตตสาโร. ตำรายาสมุนไพร.
http://www.samunpri.com/ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๑
http://www.siamhealth.net/ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๑
Comments