Skip to main content

วิธีการแก้ไขปัญหาซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์

ปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทย เป็นปัญหาที่แก้กันไม่ตก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวของประชากรค่อนข้างต่ำ แต่รสนิยมในการบริโภคกลับไม่ต่ำตาม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการผลิตของลอกเลียนแบบ หรือของละเมิดลิขสิทธิ์ในอัตราที่สูงจนติดอันดับต้นๆ ของโลก ไม่เพียงรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ติดอันดับโลก แต่รวมไปถึงสินค้าแบรนด์เนมสุดหรูอย่างเสื้อผ้า กระเป๋า น้ำหอม เครื่องสำอางอีกด้วย

ซอฟต์แวร์ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ มีตั้งแต่ซอฟต์แวร์ประเภทระบบปฏิบัติการ อย่าง Windows และ Mac OS ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในในสำนักงาน อย่าง MS Office ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในงานออกแบบ อย่าง Adobe Creative Suit รวมไปถึงซอฟต์แวร์ที่ใช้ทำงานเฉพาะด้านอย่าง CAD/CAM และอีกมากมายหลายประเภท

ผู้ที่เสาะแสวงหาซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์นั้นส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดา เพราะพวกเขาเหล่านั้นคิดว่าการใช้ซอฟต์แวร์ปลอมตรวจจับได้ยาก อีกทั้งการใช้ซอฟต์แวร์ปลอมก็ไม่ได้ทำให้เขาสูญเสียผลประโยชน์แต่อย่างใด ซึ่งผิดกับนิติบุคคล อย่างองค์กรของรัฐ หรือบริษัทต่างๆ ที่ต้องการการบำรุงรักษาระบบ และบริการหลังการขายที่ทางผู้ผลิตซอฟต์แวร์จะมอบให้ และไม่กล้าที่จะเสี่ยงกับบทลงโทษของกฎหมาย เพราะคิดว่าไม่คุ้มกัน หากถูกตรวจจับ จะเสื่อมเสียชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือขององค์กร และถูกปรับเป็นจำนวนไม่น้อย

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เนื่องจากคนไทยมีรสนิยมการบริโภค-อุปโภคที่ไม่ต่ำตามรายได้ จึงทำให้ต้องดิ้นรนหาซื้อซอฟต์แวร์เหล่านี้มาใช้ในราคาที่ถูก โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบภาพรวม การแก้ปัญหาที่ปัจจุบันแก้กันอยู่นั้น เป็นการแก้ที่ปลายเหตุที่ไม่สัมฤทธิ์ผล เสียส่วนใหญ่ นั่นคือการไล่ปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ตราบใดที่ผู้บริโภคยังมีความต้องการมากมายอย่างทุกวันนี้ ผู้ผลิตและผู้ขายก็พร้อมยอมที่จะเสี่ยงกับบทลงโทษของกฎหมาย เพื่อแลกมาซึ่งรายได้ที่งดงามเป็นกอบเป็นกำ

ปัญหานี้เป็นปัญหาลูกโซ่ กล่าวคือต้นเหตุของปัญหานี้ คืออีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุเป็นผลต่อๆ กันมา การจะแก้ปัญหาเฉพาะจุด เฉพาะที่ เป็นเรื่องยากที่จะแก้ปัญหาได้ การแก้ปัญหาจึงควรทำแบบบูรณาการทั้งวงจร สิ่งที่ต้องทำไปพร้อมๆ กันคือ ปลูกจิตสำนึกในการไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น, สนับสนุนให้ผู้ที่มีรายได้ไม่เพียงพอในการซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ หันมาใช้ซอฟต์แวร์ Open Source อย่างแพร่หลาย, สนับสนุนให้คนไทยผลิตซอฟต์แวร์กันใช้เอง เพื่อราคาที่ถูกลง และการเพิ่มรายได้ของประชากรให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ

การแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุด คือการปลูกจิตสำนึกให้เคารพในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น และความพอเพียง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่สุด สิ่งนี้ควรได้รับการบรรจุลงในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมวัย เพราะมีการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์กันตั้งแต่ระดับประถมศึกษาแล้ว (ระดับอนุบาลไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ) กล่าวคือสอนให้เด็กรู้ว่าหากหากความสามารถทางการเงินไม่ถึง ก็ไม่ควรอยากมีอยากได้ การปลูกฝังจิตสำนึก และจริยธรรมให้ผู้ขายคอมพิวเตอร์ และผู้ขายซอฟต์แวร์ แนะนำซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ให้กับลูกค้า ชี้ให้เห็นถึงข้อดีของซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ก็ควรทำควบคู่กันไปกับการปลูกฝังในโรงเรียนด้วย เพื่อค่านิยมในการไม่ละเมิดลิขสิทธิ์จะบังเกิดได้เร็วขึ้น

การที่กระทรวงศึกษาธิการซื้อลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จากบริษัท Microsoft ให้กับโรงเรียนทั่วประเทศนั้น มองดูเผินๆ ก็เหมือนเป็นการแก้ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ แต่หากมองให้ลึกลงไป เป็นการปลูกฝังให้เด็กใช้ซอฟต์แวร์ของ Microsoft ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายทางการตลาดของบริษัทอยู่แล้วว่า เมื่อเด็กใช้ซอฟต์แวร์ของ Microsoft เมื่อโตขึ้นก็จะชินกับซอฟต์แวร์ของ Microsoft และใช้ซอฟต์แวร์ของ Microsoft ต่อไป แต่เนื่องจากคนไทยรายได้น้อย การใช้ซอฟต์แวร์ของ Microsoft ในอนาคตของเด็กเหล่านั้น จึงเป็นการใช้แบบละเมิดลิขสิทธิ์

การใช้ซอฟต์แวร์ประเภท Open Source ในสถานศึกษาจึงควรได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยเหตุผลเดียวกับข้างต้น หากเด็กเคยชินกับการใช้ซอฟต์แวร์แบบ Open Source และรู้แหล่งที่จะสามารถค้นหาโปรแกรมที่ต้องการได้ เมื่อโตขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ อีกทั้ง เมื่อมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ซอฟต์แวร์ Open Source หลายๆ ตัวก็จะกลายเป็นมาตรฐานอย่างที่ซอฟต์แวร์จากหลายค่ายใหญ่ๆ ทำได้ในปัจจุบัน การดำเนินการเช่นนี้นอกจากจะเป็นการปลูกฝังการงดใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว ยังเป็นการตัดข้ออ้างต่างๆ ที่ถูกนำมาอ้างในการใช้ซอฟต์แวร์ปลอมที่ด้วยเหตุผลที่ว่า ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์นั้น เป็นมาตรฐานในการใช้งาน

การใช้ซอฟต์แวร์ Open Source ยังช่วยให้เกิดความตื่นตัวในการพัฒนาซอฟต์แวร์มากขึ้นอีกด้วย เพราะมีการเปิดโอกาสให้ศึกษา source code ของซอฟต์แวร์นั้น หากรัฐบาลส่งเสริมให้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์โดยคนไทยมากยิ่งขึ้น ก็จะนำมาซึ่งซอฟต์แวร์ผลิตโดยคนไทย ซึ่งจะมีราคาถูกกว่าที่ผลิตจากต่างประเทศแน่นอน

แต่อย่างไรก็ดี การใช้งานเฉพาะด้านหลายๆ ง่าย เช่น งานออกแบบ เป็นต้น จำเป็นต้องใช้ซอฟต์แวร์เฉพาะทางที่เสียค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ ซึ่งมีราคาที่สูงมากสำหรับซอฟต์แวร์ประเภทนี้ เพราะราคาที่ตั้งไว้เป็นราคาที่อ้างอิงจากรายได้ของประเทศผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ที่ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่เจริญแล้ว การเพิ่มรายได้ต่อหัวของประชากรให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรเข้ามาให้ความสนใจ

ทุกวันนี้หากสินค้าที่ขายในประเทศมีราคาที่สูงขึ้น รัฐบาลมักจะใช้มาตรการตรึงราคาสินค้าเอาไว้ เพื่อให้สอดรับกับรายได้ของประชากร ซึ่งทำให้รายได้ของคนในชาติคงที่ หรือเพิ่มทีละน้อย แต่ในขณะเดียวกัน รายได้ของคนในต่างประเทศกลับมีอัตราการเพิ่มขึ้นที่สูงกว่าประเทศไทย รัฐบาลจึงควรเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน เมื่อสินค้าในประเทศมีราคาที่สูงขึ้น โดยเริ่มจากข้าราชการ ที่รัฐบาลสามารถออกมาตรการเพิ่มได้โดยทันที โดยไม่ต้องกลัวว่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายของรัฐเพิ่มขึ้น เพราะข้าราชการย่อมนำเงินที่ได้เพิ่มไปใช้จ่าย อันนำมาซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐจะจัดเก็บได้ อีกทั้งทำให้ประชาชนในส่วนอื่นๆ ได้รับผลจากการใช้จ่ายที่มากขึ้นตามไปด้วย การเพิ่มรายได้ให้กับประชากร จึงเป็นอีกหนทางที่จะลดข้ออ้างในเรื่องของราคาซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ ที่ไม่สมกับรายได้ของประชากรลงได้

การแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จะทำได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำอย่างขอไปทีอย่างทุกวันนี้ และประชาชนคนไทยทุกคนต้องร่วมกันมีจิตสำนึกในการเคารพ และไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ รวมไปถึงทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นๆ ด้วย ซึ่งสามารถทำได้โดยอาศัยความพอเพียงเป็นหลัก รายได้มีเท่าใด ก็ใช้จ่ายไม่เกินนั้น อย่าไปอยากได้อยากมีสิ่งไดด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง หากทำได้เช่นนี้ ประเทศไทยคงมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลดลงอย่างแน่นอน

Comments

Anonymous said…
ตอนนี้ซอฟท์แวร์โอเพ่นซอร์สกำลังมาถูกทางแล้วครับ

แต่ว่าระบบปฏิบัติการนั้น อย่างหวังเลยครับเพราะผมอยากจะบอกคนทำว่า

1.ช่วยสงสารมือใหม่เสียบ้าง มันใช้ไม่เป็น แถมยุ่งยากมากในการติดตั้ง
2.ทำไดรเวอร์ให้มันรองรับออกมาให้เยอะกว่านี้ ไม่ใช่สักแต่จะออกแผ่นใหม่ไดรเวอร์ใหม่ไปเลย
3.ยิ่งทำยิ่งช้ากว่าวินโดวส์อีก
4.ทำแล้วหมั่นตรวจสอบข้อบกพร่องบ้าง คนใช้งานจะได้ไม่ต้องมานั่งล๊อกอินแล้วตั้งค่าใหม่เองทุกครั้ง
5.หัดดูระบบปฏิบัติการที่ทำเงินเสียบ้าง ว่าผู้ใช้ต้องการอะไร
6.ทำออกมาให้สะดวกกว่าเดิมหน่อย เพราะยิ่งใช้ยิ่งมั่ว
7.อืดอาด โหลดอะไรต่อมิอะไรนานเหลือเกินก่อนที่จะเข้าสภาพแวดล้อม

ฝากไปคิดดูหน่อยแล้วกัน จงคำนึงผู้ใช้เป็นหลักให้มากที่สุด...ไม่ใช่ความพอใจของคนทำ...
MafeunG said…
ทำไปได้
Anonymous said…
ขอบคุณมากครับ สำหรับบทความ

Popular posts from this blog

เพื่อนสนิท ไม่ว่าจะไม่เจอกันนานแค่ไหน เมื่อกลับมาเจอกันใหม่ก็ยังรู้สึกสนิทกันเหมือนเดิมจริงหรือ?

เคยมีคนบอกเอาไว้ว่า " เพื่อนสนิท ไม่ว่าจะไม่เจอกันนานแค่ไหน เมื่อกลับมาเจอกันใหม่ก็ยังรู้สึกสนิทกันเหมือนเดิม " ผมว่ามันไม่จริงเสมอไป อาจจะต้องเริ่มอธิบายกันก่อนว่าทำไมเราถึงรู้สึกสนิทกับใครบางคน การที่เราจะสนิทกับใครสักคนเราต้องกิจกรรมทางสังคมหลายๆ อย่างด้วยกันบ่อยๆ มีกิจกรรมร่วมกัน เช่น ไปกินข้าวด้วยกันประจำ ไปเที่ยวด้วยกันประจำ คุยกันเป็นประจำ ไปมาหาสู่กันบ่อยๆ เป็นต้น การที่เราจะทำกิจกรรมแบบนี้กับใครสักคนได้เป็นประจำ เชื่อเถอะว่าคุณกับเขา ต้องมีความคิดเห็น นิสัย ความชอบอะไรเหมือนๆ กัน เอาจริงๆ คือแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่คนชอบกินอะไรคนละอย่างแต่ดันไปกินข้าวด้วยกันเป็นประจำ หรือคนที่ชอบคุยกันคนละเรื่องแต่ก็ดันคุยกันด้วยกันทุกวัน คนที่ชอบเที่ยวกันคนละสไตล์แต่ก็ดันไปเที่ยวด้วยกันเป็นประจำอีก อาจจะมีข้อยกเว้นนะ แต่ผมว่าโอกาสเป็นไปได้น้อยมากๆ ข้อเท็จจริงข้อหนึ่งที่ต้องยอมรับกันก็คือ นิสัย ความชอบ ทัศนคติของคนเราเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ในขณะที่เพื่อนสนิทต่างต้องแยกย้ายกันไปมีชีวิตของตนเอง ต่างคนต่างต้องเผชิญกับชีวิตรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ประสบการณ์ต่างๆ ที่ต่างคนต่างพบเจอนี่แหละ ท...

รหัสบัตรเครดิต ภัยอินเทอร์เน็ต

ยุคนี้เป็นยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศ อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ข่าวสาร การติดต่อสื่อสาร หรือแม้แต่การซื้อ-ขายสินค้า และบริการ ก็สามารถดำเนินการผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ยิ่งเทคโนโลยีก้าวล้ำหน้าไปเพียงใด ผู้ที่คิดจะทำเทคโนโลยีมาใช้ในทางฉ้อฉลก็ยิ่งมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว การซื้อ-ขายสินค้า และบริการผ่านทางอินเทอร์เน็ต นิยมใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้า โดยลูกค้าจะต้องให้รหัสบัตรเครดิตแก่ผู้ขายสินค้า อาจมีผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถดักจับข้อมูลรหัสบัตรเครดิต และข้อมูลสำคัญอื่นนอกจากนี้ได้ อีกวิธีที่เป็นที่นิยมในการโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวคือ การแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงิน แล้วแจ้งไปยังเหยื่อ อาจใช้อีเมล จดหมาย หรือทางโทรศัพท์ อ้างว่ามีเหตุขัดข้องบางประการเกี่ยวกับบัญชีของเหยื่อ เช่น อ้างว่าบัญชีของเหยื่อถูกระงับชั่วคราว ถูกยกเลิก หรือถูกเพิกถอน โดยหลอกให้เหยื่อเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น หมายเลขประจำตัวประชาชน รหัสบัตรเครดิต รหัสผ่าน หมายเลขบัญชีธนาคาร วันเดือนปีเกิด เป็นต้น เมื่อได้ข้อมูลสำคัญเหล่านี้แล้ว ก็จะทำ...