Skip to main content

Comments on Webboard

ในโลกแห่งประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิ และเสรีภาพในด้านต่างๆ รวมถึงด้านการแสดงความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆ ได้ โดยไม่ละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น ในโลกไซเบอร์ก็ตอบสนองต่อหลักเสรีภาพทางการแสดงความเห็นได้อย่างดี โดยผ่านระบบที่เรียกว่า “กระดานสนทนา” หรือที่เรียกกันอย่างติดปากว่า “เว็บบอร์ด”

หลักการของกระดานสนทนา คือ ให้ผู้คนได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ โดยจะมีการตั้งกระทู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่กำหนดประเด็นสำหรับการสนทนา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างเสรี โดยไม่กระทบต่อสิทธิ์ของผู้อื่น

หลายครั้งที่กระแสดงความคิดเห็นของบางคนรุนแรงเกินไป บางครั้งอาจพาดพิงถึงบุคคลที่สาม หรืออาจมีการนำข้อมูลเท็จมาอ้างอิงเพื่อแสดงความน่าเชื่อถือ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น

กระดานสนทนาบนอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่จะมีระบบที่ให้สมาชิกที่พบเห็นการกระทำความผิด กล่าวคือ เมื่อสมาชิกท่านใดพบเห็นกระทู้ หรือการแสดงความคิดเห็น การให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือการให้ข้อมูลเพื่อให้ร้ายผู้อื่น สามารถแจ้งให้ผู้ดูแลกระดานสนทนาทราบ เพื่อพิจารณาลบกระทู้ หรือความคิดเห็นนั้นทิ้งเสีย หรือในบางกรณีที่ผู้ดูแลกระดานสนทนาเข้ามาพบเห็นกระทู้ หรือความคิดเห็นอันไม่พึงประสงค์ด้วยตนเอง ก็จะทำการลบทิ้งทันที

ยิ่งในปัจจุบันนี้ ความนิยมในสถาบันของพระมหากษัตริย์ และราชวงศ์ของไทยกำลังอยู่ในช่วงขาลง หลังจากการปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ทำให้ประชาชนจำนวนมากที่ไม่อาจแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้โดยตรง ก็มักจะใช้ช่องทางทางอินเทอร์เน็ต เป็นที่แสดงความคิดเห็นของตนเอง โดยการแสดงความเห็นตามกระดานสนทนาต่างๆ ซึ่งตามกฎหมายไทย ไม่อนุญาตให้มีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ และราชวงศ์ได้ หากมีการกระทำดังกล่าว จะถือว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีโทษถึงจำคุก ด้วยเหตุนี้ จึงแสดงให้เห็นว่า การแสดงความคิดเห็นบนกระดานสนทนาอย่างไม่ระวัง มิใช่จะเป็นเพียงปัญหาเล็กๆ เท่านั้น แต่ในบางประเด็นของการสนทนา ได้กลายเป็นปัญหาระดับชาติ

รัฐบาลโดยการนำของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารจึงได้เข้ามาดูแลเว็บไซต์ และกระดานสนทนาต่างๆ อย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีการแสดงความคิดเห็นในทางที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็จะมีการสั่งให้ปิดเว็บไซต์นั้นทันที แต่ทั้งนี้ในปัญหาระดับที่เล็กลงมา คือเรื่องของการแสดงความคิดเห็นที่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น แต่ไม่ใช่เรื่องของการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทางรัฐบาลมิอาจจะเข้าไปก้าวก่ายได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากอาจถูกกล่าวหาว่าทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นก็คือ มนุษย์มีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น

ปัญหาจึงตกไปอยู่กับหัวหน้าชุมชน และเหล่าสมาชิกในชุมชนออนไลน์ ที่จะต้องช่วยกันสร้างสรรค์ชุมชนของตนให้สวยงาม มีการแสดงความคิดเห็นในทางที่สร้างสรรค์ ไม่ละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น และไม่ว่าร้ายผู้อื่น หากมีผู้ที่มักจะแสดงความคิดเห็นที่ไม่พึงประสงค์ หัวหน้าชุมชนออนไลน์ควรตัดสินใจอย่างเด็ดขาดในการตัดสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นของคนเหล่านั้น เพื่อเป็นการป้อง และปรามบุคคลอื่นที่หวังจะแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่ไม่สมควร

จากที่กล่าวไปข้างต้นนั้นอาจทำให้ภาพลักษณ์ของกระดานสนทนาดูเสียหายอยู่บ้าง แต่ก็ใช่ว่ากระดานสนทนาทุกแห่ง จะมีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างรุนแรง และมีความขัดแย้งทางจุดยืน อย่างการสนทนาเรื่องการเมือง เสมอไป ชุมชนออนไลน์อีกหลายแห่ง ที่ยังคงอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข เช่น ชุมชนแฟนคลับของดาราชื่อดังทั้งหลาย ชุมชนแฟนคลับของสโมสรฟุตบอลต่างๆ หรือชุมชนคนรักสินค้าไอที ซึ่งกระดานสนทนาของบรรดาชุมชนเหล่านี้มักจะมีระดับความรุนแรงในการแสดงความคิดเห็นที่ต่ำ และส่วนใหญ่คนในชุมชนจะมีพื้นฐานความชอบที่เหมือนกัน ทำให้เกิดความขัดแย้งได้น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บางแห่งนอกจากกิจกรรมแบบดิจิทัลแล้ว ยังมีการจัดพบปะสังสรรค์กันในโลกแห่งความเป็นจริง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในชุมชนมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

Narisa (http://www.narisa.com/) เป็นตัวอย่างของชุมชนออนไลน์ที่มีกระดานสนทนาในเชิงที่สร้างสรรค์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย

Narisa คือชุมชนออนไลน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม และการพัฒนาซอฟต์แวร์ ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีจาวา, เทคโนโลยีไมโครซอฟต์, การวิเคราะห์ ออกแบบ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง, เทคโนโลยีออราเคิล และยังรวมไปถึงเรื่องสัพเพเหระอย่างเรื่องส่วนตัว อีกด้วย

สมาชิกในชุมชน Narisa ประกอบไปด้วยสมาชิกประจำ ซึ่งมักจะเป็นผู้ที่อยู่ใบวงการการเขียนโปรแกรม และการพัฒนาซอฟต์แวร์ มีทั้งผู้ที่เพิ่งเข้าสู่วงการ และผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมานาน กระดานสนทนาในหัวข้อต่างๆ นอกจากจะมีการนำข่าวของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้อมาประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยทั่วถึงกันแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนความรู้ และเทคนิคในการเขียนโปรแกรม การใช้โปรแกรม และการพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างมากมาย ผู้ที่ประสบปัญหาทางการเขียนโปรแกรม สามารถตั้งกระทู้เพื่อถามในสิ่งที่เป็นปัญหา หลังจากคำถามเข้าสู่ระบบไม่นาน ก็จะมีผู้มีประสบการณ์และความรู้สูงเข้ามาตอบไขข้อข้องใจให้ โดยมิได้คิดค่าตอบคำถามแม้แต่สตางค์แดงเดียว ผิดกับบางเว็บไซต์ ที่เมื่อมีผู้ต้องการจะตั้งคำถามในเรื่องต่างๆ ก็จะต้องเสียค่าสมาชิก แล้วจึงจะได้เห็นคำตอบที่เหล่ากูรูของทางเว็บไซต์มาตอบให้ ผู้ที่เข้าชมเว็บไซต์ Narisa อีกส่วนหนึ่งคือเหล่าขาจรทั้งหลาย ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก แต่เกิดปัญหาในการเขียนโปรแกรม จึงเข้ามาเพื่อหาคำตอบ

ชุมชนออนไลน์นอกจากจะเป็นที่แสดงความคิดเห็นแล้ว ยังเป็นที่แบ่งปันความรู้ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ (Knowledge Management) หากมีการบริหารจัดการอย่างมีระบบ สามารถใช้เป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลได้เป็นอย่างดี

ดังที่ได้เห็นกันว่าชุมชนออนไลน์ต่างๆ มีกระดานสนทนาที่มีเนื้อหาแตกต่างกันไป มีทั้งที่มีระดับความรุนแรงในการแสดงความคิดเห็นที่สูง เช่น กระดานสนทนาเรื่องการเมือง จนถึงระดับที่แทบจะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเลย เช่น กระดานสนทนาของเหล่าแฟนคลับดารา จึงไม่อาจกล่าวได้ว่า กระดานสนทนาเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ ไม่จำเป็นว่าสิ่งใดไม่ใช่สีขาว แล้วต้องเป็นสีดำ แต่ทุกๆ สิ่ง มีการไล่ระดับความเข้มอ่อนที่ต่างกัน

การลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในชุมชนออนไลน์ที่มีกระดานสนทนาที่เข้มข้น มีการโต้เถียงกันอย่างรุนแรง การละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคลของผู้อื่น และการช่วยสร้างสรรค์สังคมออนไลน์ สามารถทำได้ง่ายๆ โดย

1. ไม่ควรนำเสนอข้อมูล หรือ วิพากษ์วิจารณ์สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ ในทางเสื่อมเสีย/ มีแนวโน้ม/หรือส่อไปในทางเสื่อมเสียโดยเด็ดขาด

2. ไม่ควรนำเสนอข้อมูลอันเป็น/หรือ ส่อไปในทางหยาบคาย ลามก อนาจาร ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรมอันดี รวมถึงข้อมูลอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือทรัพย์สินทางปัญญา

3. ไม่ควรนำเสนอข้อมูลของผู้อื่น เช่น ชื่อ นามสกุล ประวัติ e-mail เบอร์โทรศัพท์ รูปภาพ ฯลฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต

4. ไม่ควรนำเสนอข้อมูลอันอาจเป็น เหตุให้เกิดความเข้าใจผิด ความขัดแย้ง ท้าทาย ชักชวนให้ก่อเกิดความวุ่นวาย ต่อบุคคลหรือระหว่างบุคคล องค์กรและสถาบันต่างๆ รวมถึงข้อมูลที่ไม่มีแหล่งที่มาของข้อมูลที่ชัดเจน

5. ไม่ควรนำเสนอข้อมูลอันเป็นการ พาดพิง/ใส่ความ/ชี้น้ำผู้อื่นให้ได้รับการดูหมิ่น เกลียดชังจากบุคคลอื่น โดยไม่มีแหล่งที่มาของข้อมูลที่ชัดเจน

6. ไม่ควรนำเสนอข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขว อันอาจนำมาซึ่งความเสียหาย หรือความเข้าใจผิด ให้แก่สังคม บุคคล องค์กร และสถาบันต่างๆ

จะเห็นได้ว่าหากปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นนี้ โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งขึ้นก็ยากเต็มที และจะช่วยสร้างสรรค์ให้สังคมออนไลน์ และกระดานสนทนาให้มีคุณค่า และเป็นที่ยอมรับจากสังคมทั่วไปได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

Comments

Anonymous said…
ขอบคุณมากนะครับ สำหรับบทความ

Popular posts from this blog

เพื่อนสนิท ไม่ว่าจะไม่เจอกันนานแค่ไหน เมื่อกลับมาเจอกันใหม่ก็ยังรู้สึกสนิทกันเหมือนเดิมจริงหรือ?

เคยมีคนบอกเอาไว้ว่า " เพื่อนสนิท ไม่ว่าจะไม่เจอกันนานแค่ไหน เมื่อกลับมาเจอกันใหม่ก็ยังรู้สึกสนิทกันเหมือนเดิม " ผมว่ามันไม่จริงเสมอไป อาจจะต้องเริ่มอธิบายกันก่อนว่าทำไมเราถึงรู้สึกสนิทกับใครบางคน การที่เราจะสนิทกับใครสักคนเราต้องกิจกรรมทางสังคมหลายๆ อย่างด้วยกันบ่อยๆ มีกิจกรรมร่วมกัน เช่น ไปกินข้าวด้วยกันประจำ ไปเที่ยวด้วยกันประจำ คุยกันเป็นประจำ ไปมาหาสู่กันบ่อยๆ เป็นต้น การที่เราจะทำกิจกรรมแบบนี้กับใครสักคนได้เป็นประจำ เชื่อเถอะว่าคุณกับเขา ต้องมีความคิดเห็น นิสัย ความชอบอะไรเหมือนๆ กัน เอาจริงๆ คือแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่คนชอบกินอะไรคนละอย่างแต่ดันไปกินข้าวด้วยกันเป็นประจำ หรือคนที่ชอบคุยกันคนละเรื่องแต่ก็ดันคุยกันด้วยกันทุกวัน คนที่ชอบเที่ยวกันคนละสไตล์แต่ก็ดันไปเที่ยวด้วยกันเป็นประจำอีก อาจจะมีข้อยกเว้นนะ แต่ผมว่าโอกาสเป็นไปได้น้อยมากๆ ข้อเท็จจริงข้อหนึ่งที่ต้องยอมรับกันก็คือ นิสัย ความชอบ ทัศนคติของคนเราเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ในขณะที่เพื่อนสนิทต่างต้องแยกย้ายกันไปมีชีวิตของตนเอง ต่างคนต่างต้องเผชิญกับชีวิตรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ประสบการณ์ต่างๆ ที่ต่างคนต่างพบเจอนี่แหละ ท

วิธีการแก้ไขปัญหาซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์

ปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทย เป็นปัญหาที่แก้กันไม่ตก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวของประชากรค่อนข้างต่ำ แต่รสนิยมในการบริโภคกลับไม่ต่ำตาม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการผลิตของลอกเลียนแบบ หรือของละเมิดลิขสิทธิ์ในอัตราที่สูงจนติดอันดับต้นๆ ของโลก ไม่เพียงรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ติดอันดับโลก แต่รวมไปถึงสินค้าแบรนด์เนมสุดหรูอย่างเสื้อผ้า กระเป๋า น้ำหอม เครื่องสำอางอีกด้วย ซอฟต์แวร์ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ มีตั้งแต่ซอฟต์แวร์ประเภทระบบปฏิบัติการ อย่าง Windows และ Mac OS ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในในสำนักงาน อย่าง MS Office ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในงานออกแบบ อย่าง Adobe Creative Suit รวมไปถึงซอฟต์แวร์ที่ใช้ทำงานเฉพาะด้านอย่าง CAD/CAM และอีกมากมายหลายประเภท ผู้ที่เสาะแสวงหาซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์นั้นส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดา เพราะพวกเขาเหล่านั้นคิดว่าการใช้ซอฟต์แวร์ปลอมตรวจจับได้ยาก อีกทั้งการใช้ซอฟต์แวร์ปลอมก็ไม่ได้ทำให้เขาสูญเสียผลประโยชน์แต่อย่างใด ซึ่งผิดกับนิติบุคคล อย่างองค์กรของรัฐ หรือบริษัทต่างๆ ที่ต้องการการบำรุงรักษาระบบ และบริการหลังการขาย

วิธีการใช้ไม้บรรทัดและแท็บใน Microsoft Office Word 1

เชื่อว่าทุกๆ คน คงได้ใช้ Microsoft Office Word กันทุกคน และก็น่าเชื่ออีกว่า หลายๆ คนที่ใช้ๆ อยู่ ไม่รู้วิธีการใช้ไม้บรรทัด และแท็บอย่างแท้จริง เรามาเริ่มต้นด้วยการรู้จักกับไม้บรรทัดกันก่อนดีกว่า ในที่นี้ของใช้เวอร์ชัน 2007 ในการแนะนำแล้วกันนะครับ แต่เนื่องจากเป็นการเขียนเองจากประสบการณ์การใช้ การใช้ศัพท์อะไรต่างๆ อาจไม่ถูกต้องตามที่ผู้ผลิตบัญญัติไว้ ขออภัยด้วย จะเห็นว่าไม้บรรทัดมีส่วนที่เป็นสีอยู่สองสี ส่วนที่เป็นสีจะเป็นส่วนของขอบกระดาษ ส่วนที่เป็นสีขาวจะเป็นพื้นที่ทำงานจริงๆ ของเรา ส่วนที่เป็นสี่เหลี่ยมสามเหลี่ยมนั้น เป็นส่วนที่ช่วยในการจัดย่อหน้าข้อความ เอาล่ะๆ ขั้นต่อไป เราไปทำความรู้จักกับแท็บแบบต่างๆ กัน ที่อยู่ของการจัดรูปแบบแท็บอยู่ทางซ้ายบนของกรอบกระดาษ แท็บก็มีหลายรูปแบบ เพื่อการใช้งานในรูปแบบต่างๆ กัน เราสามารถเลือกใช้แท็บต่างๆ โดยการคลิกหนึ่งที (คลิกซ้ายหรือขวาก็ได้) ที่รูปแท็บนั้น แล้วไปคลิกจุดที่ต้องการวางแท็บบนไม้บรรทัด นี่คือแท็บซ้าย เอาไว้จัดข้อความให้ชิดซ้าย นี่คือแท็บกึ่งกลาง เอาไว้จัดข้อความให้อยู่กึ่งกลาง นี่คือแท็บขวา เอาไว้