Skip to main content

คนไม่ใช่ ทำอะไรก็ผิด

บล็อกนี้ขอตั้งชื่อให้ว่า “คนไม่ใช่ ทำอะไรก็ผิด” แล้วกันครับ ช่วงนี้มีม็อบ “มวลมหาประชาชน” ที่อดรนทนไม่ได้กับการใช้อำนาจรัฐในทางที่เขาคิดว่าไม่เหมาะสม และเห็นควรว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ จึงพากันออกมาเดินขบวนประท้วงไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ แต่ล่าสุด เมื่อเช้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีก็ได้ประกาศยุบสภาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ “มวลมหาประชาชน” ต้องการ เพราะสิ่งที่ต้องการจริงๆ คือการกำจัด “ระบอบทักษิณ” ที่ถูกอ้างว่าบริหารงานอย่างไม่โปรงใส มีการคอรัปชั่นกันอย่างมหาศาล

ก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนว่า การคอรัปชั่นนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดี และไม่สนับสนุนให้ทำ ไม่ว่าจะเป็นการโกงระดับใดก็ตาม อันที่จริงผมเคยเขียนบล็อกที่เกี่ยวกับการโกงของคนไทยไปแล้วครั้งหนึ่ง มีเนื้อหาบอกว่าการโกงนั้นหยั่งรากลึกในสังคมไทยมาช้านาน ไม่ใช่ว่านักการเมืองเท่านั้นที่โกง แต่ในสังคมเราโกงกันแทบทุกคน ทุกสาขาอาชีพ ทุกชนชั้น หากใครสนใจ ลองเข้าไปอ่านกันดูได้ครับ

“มวลมหาประชาชน” ออกมาเดินประท้วงต่อต้านระบอบทักษิณบนท้องถนนกันอย่างล้นหลาม ราวกับว่าการคอรัปชั่นนั้นเพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลทักษิณเสียอย่างนั้น ทำไมถึงพูดอย่างนั้น เพราะจากที่สังเกตมา เมื่อรัฐบาลอื่นที่ไม่ใช่พรรคพวกของทักษิณมีข่าวการคอรัปชั่น หรือการทำอะไรที่ไม่ชอบมาพากล สังคมชนชั้นกลางก็มักจะมองข้ามเสมอๆ แต่ในขณะที่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับทักษิณ กลับถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากสังคมชนชั้นกลาง

ตัวอย่างที่จะมานำเสนอในวันนี้ คือ โพสหนึ่งจากเพจ กองทัพประชาชนล้มล้างระบอบทักษิณ ซึ่งคนที่ติดตามอยู่เป็นประจำจะทราบดีกว่าเป็นเพจที่สร้างขึ้นมาเพื่อเสียดสีสังคม โดยอาศัยนิสัยไม่ดีอย่างหนึ่งของคนในสังคมปัจจุบัน นั่นก็คือการแชร์อะไรโดยไม่ตรวจสอบข้อมูล และไม่รู้จริงในเรื่องนั้นๆ




เพจนี้โพสภาพกราฟิก มีเนื้อหาพูดถึงการที่ ครม.ชุดหนึ่งอนุมัติงบประมาณจำนวนมหาศาลภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะยุบสภา โดยเขียนว่าเป็น “ครม.อีโง่” และใส่รูปภาพการประชุมที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นประธาน

ผลที่ได้คืออะไร? มีการแชร์ข้อมูลนี้ ณ เวลาที่เขียนบล็อกนี้ ไปเกือบเจ็ดร้อยครั้ง (ผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่แชร์เหมือนกัน แต่เพื่อการเสียดสี) พร้อมกับคำด่า สาปแช่งต่างๆ นานา ผมลองกดเข้าไปดูผู้ที่แชร์ข้อมูลนี้ไปจำนวนหนึ่ง พบว่าเกือบทั้งหมดเป็นผู้ที่สนับสนุนการต่อต้านรัฐบาลในปัจจุบันด้วย

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าเพจนี้มีเนื้อหาเสียดสี ครม.ที่ทำการอนุมัติงบประมาณจำนวนที่กล่าวถึงในภาพกราฟิกนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่เป็นรัฐบาลชุดก่อนของนายอภิสิทธิ์นั่นเอง http://www.thairath.co.th/content/pol/169053

สิ่งที่ได้เห็นคืออะไร? ครั้งที่ ครม.อภิสิทธิ์ อนุมัติงบประมาณจำนวนนี้ ถามว่ามีข่าวออกมาตามสื่อต่างๆ หรือไม่? มีครับ ออกมาเป็นข่าวดังมากด้วย ผมเห็นปุ๊บยังร้องอ๋อเลยว่าพูดถึงเรื่องอะไร จำได้แม่นมาก แต่เกิดอะไรขึ้นกับคนชั้นกลางในสังคมโซเชียล? ไม่มีใครคิดจะต่อต้านเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย ทำเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ไม่สนใจ แต่พอแกล้งเปลี่ยนตัวละคร ใส่ข้อความ ใส่ภาพเพิ่มเติมเข้าไปให้สื่อถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้าหน่อย กลับมีผู้แชร์ไปด่าไปอย่างล้นหลาม

หลายครั้ง เรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมที่ผมได้อยู่ ทำให้ผมคิดอยู่เสมอว่า ตกลงแล้วเราเกลียดการโกง การทุจริตคอรัปชั่นจริงรึเปล่า? ทำไมคนในสังคมถึงทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับเรื่องๆ หนึ่งที่คนกลุ่มหนึ่งทำ แต่พอคนอีกกลุ่มทำเรื่องทำนองเดียวกัน กลับมีเสียงต่อต้านอย่างมากมาย หรือแท้จริงแล้วเป็นเพียงอคติในใจที่เราสร้างขึ้นมา โดยไม่ได้สนใจข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร ช่างน่าคิดนัก

Comments

Popular posts from this blog

วิธีการแก้ไขปัญหาซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์

ปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทย เป็นปัญหาที่แก้กันไม่ตก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวของประชากรค่อนข้างต่ำ แต่รสนิยมในการบริโภคกลับไม่ต่ำตาม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการผลิตของลอกเลียนแบบ หรือของละเมิดลิขสิทธิ์ในอัตราที่สูงจนติดอันดับต้นๆ ของโลก ไม่เพียงรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ติดอันดับโลก แต่รวมไปถึงสินค้าแบรนด์เนมสุดหรูอย่างเสื้อผ้า กระเป๋า น้ำหอม เครื่องสำอางอีกด้วย ซอฟต์แวร์ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ มีตั้งแต่ซอฟต์แวร์ประเภทระบบปฏิบัติการ อย่าง Windows และ Mac OS ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในในสำนักงาน อย่าง MS Office ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในงานออกแบบ อย่าง Adobe Creative Suit รวมไปถึงซอฟต์แวร์ที่ใช้ทำงานเฉพาะด้านอย่าง CAD/CAM และอีกมากมายหลายประเภท ผู้ที่เสาะแสวงหาซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์นั้นส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดา เพราะพวกเขาเหล่านั้นคิดว่าการใช้ซอฟต์แวร์ปลอมตรวจจับได้ยาก อีกทั้งการใช้ซอฟต์แวร์ปลอมก็ไม่ได้ทำให้เขาสูญเสียผลประโยชน์แต่อย่างใด ซึ่งผิดกับนิติบุคคล อย่างองค์กรของรัฐ หรือบริษัทต่างๆ ที่ต้องการการบำรุงรักษาระบบ และบริการหลังการขาย...

เพื่อนสนิท ไม่ว่าจะไม่เจอกันนานแค่ไหน เมื่อกลับมาเจอกันใหม่ก็ยังรู้สึกสนิทกันเหมือนเดิมจริงหรือ?

เคยมีคนบอกเอาไว้ว่า " เพื่อนสนิท ไม่ว่าจะไม่เจอกันนานแค่ไหน เมื่อกลับมาเจอกันใหม่ก็ยังรู้สึกสนิทกันเหมือนเดิม " ผมว่ามันไม่จริงเสมอไป อาจจะต้องเริ่มอธิบายกันก่อนว่าทำไมเราถึงรู้สึกสนิทกับใครบางคน การที่เราจะสนิทกับใครสักคนเราต้องกิจกรรมทางสังคมหลายๆ อย่างด้วยกันบ่อยๆ มีกิจกรรมร่วมกัน เช่น ไปกินข้าวด้วยกันประจำ ไปเที่ยวด้วยกันประจำ คุยกันเป็นประจำ ไปมาหาสู่กันบ่อยๆ เป็นต้น การที่เราจะทำกิจกรรมแบบนี้กับใครสักคนได้เป็นประจำ เชื่อเถอะว่าคุณกับเขา ต้องมีความคิดเห็น นิสัย ความชอบอะไรเหมือนๆ กัน เอาจริงๆ คือแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่คนชอบกินอะไรคนละอย่างแต่ดันไปกินข้าวด้วยกันเป็นประจำ หรือคนที่ชอบคุยกันคนละเรื่องแต่ก็ดันคุยกันด้วยกันทุกวัน คนที่ชอบเที่ยวกันคนละสไตล์แต่ก็ดันไปเที่ยวด้วยกันเป็นประจำอีก อาจจะมีข้อยกเว้นนะ แต่ผมว่าโอกาสเป็นไปได้น้อยมากๆ ข้อเท็จจริงข้อหนึ่งที่ต้องยอมรับกันก็คือ นิสัย ความชอบ ทัศนคติของคนเราเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ในขณะที่เพื่อนสนิทต่างต้องแยกย้ายกันไปมีชีวิตของตนเอง ต่างคนต่างต้องเผชิญกับชีวิตรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ประสบการณ์ต่างๆ ที่ต่างคนต่างพบเจอนี่แหละ ท...

รหัสบัตรเครดิต ภัยอินเทอร์เน็ต

ยุคนี้เป็นยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศ อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ข่าวสาร การติดต่อสื่อสาร หรือแม้แต่การซื้อ-ขายสินค้า และบริการ ก็สามารถดำเนินการผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ยิ่งเทคโนโลยีก้าวล้ำหน้าไปเพียงใด ผู้ที่คิดจะทำเทคโนโลยีมาใช้ในทางฉ้อฉลก็ยิ่งมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว การซื้อ-ขายสินค้า และบริการผ่านทางอินเทอร์เน็ต นิยมใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้า โดยลูกค้าจะต้องให้รหัสบัตรเครดิตแก่ผู้ขายสินค้า อาจมีผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถดักจับข้อมูลรหัสบัตรเครดิต และข้อมูลสำคัญอื่นนอกจากนี้ได้ อีกวิธีที่เป็นที่นิยมในการโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวคือ การแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงิน แล้วแจ้งไปยังเหยื่อ อาจใช้อีเมล จดหมาย หรือทางโทรศัพท์ อ้างว่ามีเหตุขัดข้องบางประการเกี่ยวกับบัญชีของเหยื่อ เช่น อ้างว่าบัญชีของเหยื่อถูกระงับชั่วคราว ถูกยกเลิก หรือถูกเพิกถอน โดยหลอกให้เหยื่อเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น หมายเลขประจำตัวประชาชน รหัสบัตรเครดิต รหัสผ่าน หมายเลขบัญชีธนาคาร วันเดือนปีเกิด เป็นต้น เมื่อได้ข้อมูลสำคัญเหล่านี้แล้ว ก็จะทำ...