Skip to main content

ควรลงทะเบียน PromptPay หรือไม่?

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่ธนาคารต่างๆ เปิดให้ลงทะเบียนบริการ PromptPay อย่างเป็นทางการ ผมเองก็ได้รับการแจ้งเตือนจากธนาคารที่มีบัญชีอยู่เหมือนกัน คำถามที่เกิดขึ้น คือ เราควรลงทะเบียนเลยมั้ย?

เพื่อนๆ ที่อยู่ในวงการ IT เดียวกับผม แนะนำว่ายังไม่ควรลงทะเบียนตอนนี้ เพราะหลายคนให้ความสนใจกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวเสียส่วนใหญ่ การนำรหัสประจำตัวประชาชนและหมายเลขโทรศัพท์ไปผูกติดกับบัญชีธนาคารนั้น อาจทำให้เกิดช่องโหว่ด้านความปลดภัยและการหลุดรั่วของข้อมูลส่วนตัวได้ ผมเองก็พยายามตั้งคำถามเกี่ยวกับสองเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน

ขอพูดถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวก่อน ปกติเวลาเปิดบัญชีธนาคาร เราต้องใช้บัตรประชาชนเป็นหลักฐานในการเปิดบัญชีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ธนาคารมีข้อมูลเลขประจำตัวประชาชนเราแล้ว ผมมองว่าการที่เราลงทะเบียนเพื่อผูกเลขประจำตัวประชาชนเรากับบัญชีธนาคาร ไม่ใช่การให้ข้อมูลของเราเพิ่มเติมกับธนาคารแต่อย่างใด แต่เป็นการบอกกับธนาคาร (ในกรณีมีหลายบัญชี) ว่า บัญชีไหนคือบัญชีที่เราอยากใช้ในการทำธุรกรรมกับรัฐ (ขอเน้นเรื่องทำธุรกรรมกับรัฐก่อนแล้วกัน น่าจะเป็นหัวใจหลักของบริการนี้) 

ตัวอย่างเช่น หากเราทำเรื่องขอคืนภาษี แทนที่รัฐจะจ่ายให้เราเป็นเช็คเพื่อนำไปขึ้นเงินกับธนาคาร รัฐรู้อยู่แล้วว่าเราเลขประจำตัวประชาชนอะไร เมื่อเราไปผูกบัญชี PromptPay นั่นเท่ากับว่า รัฐสามารถโอนเงินภาษีที่เก็บเกินไปเข้าสู่บัญชีเราได้โดยตรง ลดขั้นตอนยุ่งยากและค่าใช้จ่ายลงไปได้

ในกรณีของหมายเลขโทรศัพท์ ถือเป็น optional แล้วกัน เพราะเราไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลนี้กับธนาคารก็ได้ แต่ก็ถือเป็นความสะดวกเพิ่มอีกอย่าง บางธนาคาร ข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ไม่จำเป็นต้องใช้ในการเปิดบัญชี แต่แทบทุกธนาคาร จำเป็นต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์ในการใช้งาน e-banking หรือ online-banking ทั้งใช้ในการทำ two-factor authentication หรือส่งข้อความยืนยันการทำธุรกรรมก็ตาม หรือพูดง่ายๆ ว่า ธนาคารเองก็มีข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ของลูกค้าอยู่จำนวนหนึ่งแล้ว อาจจะไม่ครบถ้วนเท่าหมายเลขประจำตัวประชาชน แต่ก็ไม่ใช่ข้อมูลใหม่ หรือข้อมูลลับที่เราให้กับธนาคารไม่ได้

ทีนี้หากพูดถึงการใช้งานกับบุคคลทั่วไป ไม่ใช่การใช้งานกับรัฐแล้ว เช่น การโอนเงินระหว่างบุคคล หลายคนก็กังวลว่าการให้หมายเลขโทรศัพท์ หรือ หมายเลขประจำตัวประชาชนกับผู้อื่นแล้วจะสูญเสียความเป็นส่วนตัว นั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ต้องกังวล หมายเลขโทรศัพท์และหมายเลขประจำตัวประชาชนถือเป็นข้อมูลส่วนตัว เรามีสิทธิ์ที่จะไม่เปิดเผยให้กับบุคคลอื่นๆ ได้ และก็ไม่มีใครบังคับให้เราใช้หมายเลขประจำตัวประชาชนหรือโทรศัพท์ในการโอนเงินเช่นกัน บุคคลทั่วไปอย่างเราๆ ที่ไม่อยากเปิดเผยหมายเลขโทรศัพท์ แม้ว่าเราผู้บัญชีลงทะเบียน PromptPay แล้ว เราก็ยังสามารถโอนเงินผ่านหมายเลขบัญชีธนาคารอย่างเดิมก็ได้

ผมมองว่า option การใช้หมายเลขโทรศัพท์เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับบุคคลกลุ่มหนึ่ง เช่น พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ที่ปกติจะเปิดเผยหมายเลขโทรศัพท์ในการค้าขายอยู่แล้ว เมื่อลงทะเบียนใช้งาน PromptPay ลูกค้าสามารถชำระค่าสินค้าผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีที่ผูกกับหมายเลขโทรศัพท์ได้เลย นั่นช่วยอำนวยความสะดวกเป็นอย่างมาก

โดยสรุป ผมมองว่า บริการ PromptPay มีจุดมุ่งหมายอยู่สองประการ

  1. คือการลดขั้นตอนในการทำธุรกรรมกับรัฐ ตามข่าวใช้คำว่าการจัดสรรสวัสดิการต่างๆ เช่น การขอคืนภาษีที่ได้ยกตัวอย่างไป
  2. คือการนำพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เข้าสู่ระบบ การทำธุรกรรมผ่าน PromptPay ทำให้รัฐสามารถตรวจสอบและจัดเก็บภาษีได้ง่ายขึ้น

ส่วนผู้ใช้อย่างเรายังสามารถโอนเงินผ่านหมายเลขบัญชีธนาคารแบบเดิมๆ ได้ต่อไป

สำหรับข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย อย่างที่ได้ให้เหตุผลไปว่า ข้อมูลหมายเลขประจำตัวประชาชนและหมายเลขโทรศัพท์ ไม่ใช่ข้อมูลใหม่ที่เราให้กับธนาคาร ธนาคารมีข้อมูลของเราเหล่านี้อยู่แล้ว หาก hacker สามารถเจาะระบบเข้าสู่ธนาคารได้ ข้อมูลเหล่านี้ก็มีโอกาสหลุดอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับว่าจะมี PromptPay หรือไม่

ส่วนคำถามที่ว่าควรลงทะเบียน PromptPay เลยหรือไม่ ผมเองก็ยังรอดูท่าทีของรัฐ และการใช้งานจริงก่อนแล้วกัน




from WordPress http://ift.tt/29ZEhUF
via IFTTT

Comments

Popular posts from this blog

วิธีการแก้ไขปัญหาซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์

ปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทย เป็นปัญหาที่แก้กันไม่ตก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวของประชากรค่อนข้างต่ำ แต่รสนิยมในการบริโภคกลับไม่ต่ำตาม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการผลิตของลอกเลียนแบบ หรือของละเมิดลิขสิทธิ์ในอัตราที่สูงจนติดอันดับต้นๆ ของโลก ไม่เพียงรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ติดอันดับโลก แต่รวมไปถึงสินค้าแบรนด์เนมสุดหรูอย่างเสื้อผ้า กระเป๋า น้ำหอม เครื่องสำอางอีกด้วย ซอฟต์แวร์ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ มีตั้งแต่ซอฟต์แวร์ประเภทระบบปฏิบัติการ อย่าง Windows และ Mac OS ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในในสำนักงาน อย่าง MS Office ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในงานออกแบบ อย่าง Adobe Creative Suit รวมไปถึงซอฟต์แวร์ที่ใช้ทำงานเฉพาะด้านอย่าง CAD/CAM และอีกมากมายหลายประเภท ผู้ที่เสาะแสวงหาซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์นั้นส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดา เพราะพวกเขาเหล่านั้นคิดว่าการใช้ซอฟต์แวร์ปลอมตรวจจับได้ยาก อีกทั้งการใช้ซอฟต์แวร์ปลอมก็ไม่ได้ทำให้เขาสูญเสียผลประโยชน์แต่อย่างใด ซึ่งผิดกับนิติบุคคล อย่างองค์กรของรัฐ หรือบริษัทต่างๆ ที่ต้องการการบำรุงรักษาระบบ และบริการหลังการขาย...

เพื่อนสนิท ไม่ว่าจะไม่เจอกันนานแค่ไหน เมื่อกลับมาเจอกันใหม่ก็ยังรู้สึกสนิทกันเหมือนเดิมจริงหรือ?

เคยมีคนบอกเอาไว้ว่า " เพื่อนสนิท ไม่ว่าจะไม่เจอกันนานแค่ไหน เมื่อกลับมาเจอกันใหม่ก็ยังรู้สึกสนิทกันเหมือนเดิม " ผมว่ามันไม่จริงเสมอไป อาจจะต้องเริ่มอธิบายกันก่อนว่าทำไมเราถึงรู้สึกสนิทกับใครบางคน การที่เราจะสนิทกับใครสักคนเราต้องกิจกรรมทางสังคมหลายๆ อย่างด้วยกันบ่อยๆ มีกิจกรรมร่วมกัน เช่น ไปกินข้าวด้วยกันประจำ ไปเที่ยวด้วยกันประจำ คุยกันเป็นประจำ ไปมาหาสู่กันบ่อยๆ เป็นต้น การที่เราจะทำกิจกรรมแบบนี้กับใครสักคนได้เป็นประจำ เชื่อเถอะว่าคุณกับเขา ต้องมีความคิดเห็น นิสัย ความชอบอะไรเหมือนๆ กัน เอาจริงๆ คือแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่คนชอบกินอะไรคนละอย่างแต่ดันไปกินข้าวด้วยกันเป็นประจำ หรือคนที่ชอบคุยกันคนละเรื่องแต่ก็ดันคุยกันด้วยกันทุกวัน คนที่ชอบเที่ยวกันคนละสไตล์แต่ก็ดันไปเที่ยวด้วยกันเป็นประจำอีก อาจจะมีข้อยกเว้นนะ แต่ผมว่าโอกาสเป็นไปได้น้อยมากๆ ข้อเท็จจริงข้อหนึ่งที่ต้องยอมรับกันก็คือ นิสัย ความชอบ ทัศนคติของคนเราเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ในขณะที่เพื่อนสนิทต่างต้องแยกย้ายกันไปมีชีวิตของตนเอง ต่างคนต่างต้องเผชิญกับชีวิตรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ประสบการณ์ต่างๆ ที่ต่างคนต่างพบเจอนี่แหละ ท...

รหัสบัตรเครดิต ภัยอินเทอร์เน็ต

ยุคนี้เป็นยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศ อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ข่าวสาร การติดต่อสื่อสาร หรือแม้แต่การซื้อ-ขายสินค้า และบริการ ก็สามารถดำเนินการผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ยิ่งเทคโนโลยีก้าวล้ำหน้าไปเพียงใด ผู้ที่คิดจะทำเทคโนโลยีมาใช้ในทางฉ้อฉลก็ยิ่งมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว การซื้อ-ขายสินค้า และบริการผ่านทางอินเทอร์เน็ต นิยมใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้า โดยลูกค้าจะต้องให้รหัสบัตรเครดิตแก่ผู้ขายสินค้า อาจมีผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถดักจับข้อมูลรหัสบัตรเครดิต และข้อมูลสำคัญอื่นนอกจากนี้ได้ อีกวิธีที่เป็นที่นิยมในการโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวคือ การแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงิน แล้วแจ้งไปยังเหยื่อ อาจใช้อีเมล จดหมาย หรือทางโทรศัพท์ อ้างว่ามีเหตุขัดข้องบางประการเกี่ยวกับบัญชีของเหยื่อ เช่น อ้างว่าบัญชีของเหยื่อถูกระงับชั่วคราว ถูกยกเลิก หรือถูกเพิกถอน โดยหลอกให้เหยื่อเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น หมายเลขประจำตัวประชาชน รหัสบัตรเครดิต รหัสผ่าน หมายเลขบัญชีธนาคาร วันเดือนปีเกิด เป็นต้น เมื่อได้ข้อมูลสำคัญเหล่านี้แล้ว ก็จะทำ...