บริษัท IT มักจะประสบกับปัญหาที่บุคลากรที่มีคุณภาพขององค์กร ที่รับเข้ามาด้วยการพิจารณาแต่การศึกษาดีๆ ประกาศนียบัตรงามๆ ย้ายไปทำงานให้กับบริษัทอื่น บ้างก็อ้างว่าเป็นเพราะทางบริษัทรับแต่คนเก่ง แต่ไม่เป็นคนดีเข้าไปทำงาน พนักงานจึงไม่ภักดีต่อองค์กร และย้ายไปทำงานให้กับบริษัทอื่น
เราไม่อาจอนุมานได้ว่าคนที่ย้ายไปทำงานให้กับบริษัทอื่นนั้นไม่เป็นคนดี บางคนอาจไม่พอใจกับสภาพแวดล้อม หรือ สังคมในที่ทำงานเก่า จึงลาออกแล้วไปทำงานให้กับบริษัทใหม่ บางคนต้องการหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในการทำงานให้กับตนเอง แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ค่าตอบแทนที่ได้รับเสียมากกว่า
แต่ถึงแม้ว่าการที่พนักงานย้ายจากบริษัทหนึ่งย้ายไปทำงานให้กับอีกบริษัทหนึ่ง ด้วยเหตุผลเรื่องค่าตอบแทน ก็ยังไม่อาจสรุปได้อีกว่าพนักงานคนนั้นไม่เป็นคนดี เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท กับพนักงาน ควรเป็นในรูปแบบของ win-win situation กล่าวคือ บริษัทได้ประโยชน์จากผลผลิตที่พนักงานผลิตขึ้น และพนักงานก็ได้ค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลจากทางบริษัทเช่นกัน เมื่อมีบริษัทอื่นเห็นคุณค่าในตัวของบุคลากรบริษัทเรามากกว่าที่เราเห็น พนักงานคนนั้นย่อมมีสิทธิ์ในการไปทำงานให้กับบริษัทนั้น เพราะเหตุผลในเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความพอใจ บางครั้งค่าตอบแทนก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เรื่องของเกียรติยศ ชื่อเสียงของบริษัท ตำแหน่งหน้าที่การงาน เป็นเรื่องที่พนักงานที่ต้องการจะย้ายบริษัท นำมาพิจารณาประกอบด้วยเช่นกัน
เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีพนักงานที่มีคุณภาพของบริษัทย้ายออกไปทำงานให้กับบริษัทอื่น ด้วยเหตุผลทางด้านค่าตอบแทน และผลประโยชน์ ทางบริษัทเองจะต้องพิจารณานโยบายของบริษัทเองก่อนว่าเป็นอย่างไร ผู้บริหารได้มอบหมายงาน และตำแหน่งหน้าที่ให้กับพนักงานสมกับศักยภาพของพนักงานหรือไม่ และค่าตอบแทนที่พนักงานได้รับมีความสมเหตุสมผลหรือไม่
เมื่อพนักงานคนหนึ่งมีศักยภาพมากกว่างานที่ได้รับมอบหมายจากทางบริษัท ก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่พนักงานคนนั้นจะย้ายบริษัท เพื่อให้ได้ทำงานในสิ่งที่ท้าทายความสามารถของเขามากกว่า และก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะมีพนักงานซักคนคิดว่าค่าตอบแทนที่ตนได้รับไม่สมกับศักยภาพที่ตนมี และย้ายไปทำงานให้กับบริษัทที่ให้ค่าตอบแทนที่เขาคิดว่าสมควรจะได้รับเมื่อเทียบกับศักยภาพของเขา
เป็นสิ่งที่แน่นอนว่าผลตอบแทนที่พนักงานแต่ละคนจะได้รับ ขึ้นอยู่กับความคาดหวังในผลผลิตที่พนักงานคนนั้นจะผลิตให้กับบริษัท และค่าตอบแทนของพนักงานแต่ละคนยังขึ้นอยู่กับกฎของ demand และ supply ในตลาดแรงงานอีกด้วย ดังนั้น ค่าตอบแทนที่พนักงานจะได้รับในแต่ละบริษัท จึงไม่ได้ถูกกำหนดโดยบริษัท หรือพนักงานแต่ฝ่ายเดียว เป็นสิ่งที่ตกลงกันได้ระหว่างพนักงาน และบริษัท และนอกจากนั้น ยังต้องเป็นไปตามสภาวะแวดล้อมอีกด้วย
หากผมเป็นผู้บริหารของบริษัท IT แน่นอนว่าจากคำจำกัดความของบริษัท IT คงไม่ใช่องค์กรเพื่อการกุศล แต่เป็นองค์กรที่แสวงหาผลกำไรเป็นสำคัญ ตรรกะในการมองปัญหาต่างๆ จึงอยู่ในมุมมองของทุนนิยมตามไปด้วย การเลือกพนักงานเข้ามาทำงานให้กับบริษัทจึงคำนึงถึงผลประโยชน์ที่พนักงานจะให้กับบริษัท โดยไม่ได้มองแค่ผลตอบแทนระยะสั้นที่บริษัทจะได้รับ แต่มองถึงผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว
ตรรกะที่ผมจะใช้เข้ามาในการคัดเลือกพนักงาน ไม่ว่าจะเป็น programmer, software engineer และตำแหน่งอื่นๆ ในบริษัท ผมจะเลือกพนักงานที่ไม่เก่งมากนัก แต่มีคุณสมบัติในด้านการเรียนรู้ และใฝ่รู้ สามารถนำมาฝึกฝนงานได้อย่างต่อเนื่อง
เมื่อแรกเริ่มเข้ามา ค่าตอบแทนที่พนักงานจะได้รับก็จะไม่สูงนัก แต่เมื่อได้รับการฝึกฝนจนมีความชำนาญ และมีประสบการณ์มากขึ้น ก็จะต้องมีการเลื่อนตำแหน่ง ให้พนักงานได้รับงานมอบหมายที่เหมาะสมกับศักยภาพที่เพิ่มขึ้น และที่สำคัญ ต้องมีการเพิ่มค่าตอบแทนให้มากขึ้นตามหน้าที่ และความรับผิดชอบตามไปด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการจูงใจให้กับพนักงานในการทำงานให้กับบริษัทต่อไป อีกด้วย
นอกจากเรื่องของค่าตอบแทนที่ทางบริษัทต้องเสนอให้กับพนักงานอย่างเหมาะสมแล้ว เรื่องของสวัสดิการต่างๆ ที่ทางบริษัทจัดให้กับพนักงาน เป็นอีกสิ่งสำคัญที่จะจูงใจให้พนักงานทำงานกับบริษัทต่อไป
โดยในที่นี้จะมองข้ามในเรื่องของความดีของพนักงานไป เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่อาจวัด และประเมินผลให้ออกมาอยู่ในรูปที่จับต้องได้ แต่จะมองในเรื่องของความประพฤติของพนักงานมากกว่า ว่าพนักงานคนใดปฏิบัติตนได้เป็นไปตามกฎระเบียบของบริษัท และไม่ทำให้บริษัทต้องเสียผลประโยชน์ ซึ่งมุมมองนี้จะสามารถวัดผลได้อย่างเห็นได้ชัดเจน
หลายครั้งที่เมื่อพนักงานลาออกไปทำงานให้กับบริษัทอื่น มักจะมีปัญหาเกิดขึ้นหลายอย่าง เนื่องจากพนักงานที่ลาออกไป ลาออกไปพร้อมกับความรู้และประสบการณ์ที่มีต่องานชิ้นนั้น ทำให้พนักงานที่เข้ามาทำงานแทน เกิดความยากลำบากในการทำงาน และทำให้บริษัทต้องเสียโอกาสในทางธุรกิจ ปัญหานี้ผมมองว่าเป็นปัญหาของทางบริษัทเอง มิใช่ความผิดของพนักงานแต่อย่างใด
การจ้างงานพนักงาน ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งหน้าที่ใด จะมีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร บริษัทเอกชนส่วนใหญ่มักจะทำสัญญาในระยะเวลาหนึ่ง ไม่ได้เป็นสัญญาจ้างตลอดจนเกษียณอายุ แต่ก็อาจมีให้เห็นอยู่บ้าง ดังนั้นในสัญญาก็ควรมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าหากพนักงานจะลาออก จะต้องแจ้งให้บริษัททราบล่วงหน้าเป็นเวลาเท่าใด เพื่อที่จะให้บริษัทได้ดำเนินการหาบุคคลเข้ามาทดแทนในตำแหน่งดังกล่าว
นอกจากนี้ระบบการจัดการความรู้ (knowledge management) ยังช่วยรักษามันสมอง และประสบการณ์ของบริษัทให้อยู่กับบริษัทต่อไป ไม่หลุดลอยไปกับพนักงานที่ลาออกไป
ดังนั้นเมื่อมีพนักงานลาออกไปทำงานให้กับบริษัทอื่นจะไม่ทำให้บริษัทต้องเผชิญกับปัญหามากนัก ถ้าบริษัทมีการจัดการที่เป็นระบบ ทั้งในเรื่องของสัญญาการจ้างงาน และการจัดการความรู้ และระบบการทำงานที่ดียังช่วยทำให้การดำเนินงานของบริษัทไม่ขึ้นอยู่กับบุคคลใดคนหนึ่งจนเกินไป หากบริษัทจะเกิดปัญหาขึ้นในกรณีที่มีพนักงานลากออกไป ก็สมควรที่จะต้องได้รับผลของมัน เพราะเป็นความผิดพลาดโดยตรงของทางบริษัท ที่มีผู้บริหารที่ไม่มีความรอบคอบในการทำงาน และการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ มิใช่ว่าจะไปโทษพนักงานที่ลาออกไปให้เป็นตราบาปต่อชีวิตพนักงานผู้นั้น เพราะการออกไปหาสิ่งที่ดีกว่าของพนักงานมิใช่ความผิดแต่อย่างใด
เปรียบก็เหมือนกับทีมฟุตบอลในลีกอาชีพของต่างประเทศ ซึ่งมีทีมเยาวชนเอาไว้เพื่อฝึกฝนนักฟุตบอลระดับเยาวชนให้มีความสามารถพอที่จะมาเล่นในทีมชุดใหญ่ และนอกจากนี้ยังต้องมีการซื้อผู้เล่นที่มีความสามารถเข้ามาเสริมทีมอีกด้วย หากการย้ายไปทำงานให้กับบริษัทอื่น ถือว่าเป็นสิ่งไม่ดี นักฟุตบอลในโลกนี้คงเลวกันครึ่งค่อนโลกอย่างแน่นอน และทีมที่ประสบความสำเร็จ คือทีมที่สามารถสร้างนักฟุตบอลระดับเยาวชนขึ้นมาทดแทนผู้เล่นที่ย้ายออกไปได้อย่างสมดุล
Comments
แต่ด้วยสภาพแบบนี้ ยากเหลือเกิน ที่จะหางานใหม่
บทความเขียนได้ดีนะครับ
แต่ ตัวหนังสือติดกันไปนิด ผมปวดตา
จ้องนานๆ ไม่ได้
และขอบคุณมากนะครับ
ที่ช่วย comment บทความ ผม ^ ^